
1. หลักเกณฑ์ทางภาษี
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 315 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อการยกเว้นภาษี เงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ ต้องเป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยจากเงินได้ที่ได้รับ ซึ่งต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือ บริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร
ข้อ 2 การประกันสุขภาพตามข้อ 1 ให้หมายถึง
- การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
- การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
- การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
- การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
2. สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ผู้เอาประกันภัยสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ตามที่ผู้เอาประกันภัยจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิต (ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 172) แล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
3. วิธีการใช้สิทธิทางภาษี
ตั้งแต่ปีภาษี 2561 เป็นต้นไป ผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์จะนำเบี้ยประกันสุขภาพไปลดหย่อนภาษี ต้องแจ้งความประสงค์ การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ให้บริษัทรับทราบ โดยกรอกข้อมูล แบบฟอร์มออนไลน์แจ้งความประสงค์การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ฯ ของบริษัท เพื่อให้บริษัทสามารถนำส่งข้อมูลเบี้ยประกันสุขภาพให้แก่กรมสรรพากร โดยที่ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องใช้หลักฐานประกอบ การขอลดหย่อนภาษี